ลิวคีเมียในแมว โรคอันตรายที่ห้ามมองข้าม

หลายๆ คนน่าจะเคยได้ยิน หรือพอทราบข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงของโรคลิวคีเมีย หรือโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในคนกันมาบ้าง แต่ทราบหรือไม่ว่า ในแมวเองก็มีโรคนี้เช่นเดียวกัน รวมทั้งอันตรายของโรคก็รุนแรงไม่แพ้กับในคนเลยทีเดียวนะ
โรคลิวคีเมีย (Feline leukemia virus ; FeLV)
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อเดียวกัน คือ feline leukemia virus จัดเป็นโรคหนึ่งที่มีความสำคัญมากในแมว สามารถติดต่อได้ทั้งแมวเลี้ยง ไปจนถึงสัตว์ป่าตระกูลแมว เจ้าเชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถทำให้เกิดความผิดปกติในร่างกายของแมวได้หลายประเภท เช่น ก่อให้เกิดภาวะเลือดจางอย่างรุนแรง การกดภูมิคุ้มกัน อันยิ่งส่งผลให้เกิดความผิดปกติอื่นๆ แทรกซ้อนได้ง่ายขึ้น หรือก่อให้เกิดก้อนเนื้องอก หรือก้อนเนื้อมะเร็งได้เลย โดยแมวสามารถได้รับเชื้อไวรัสตัวนี้ผ่านทางการสัมผัสน้ำลาย ปัสสาวะ น้ำตา หรืออุจจาระของแมว (หรือสัตว์ในตระกูลแมวอื่นๆ) ที่ป่วย รวมทั้งสามารถติดผ่านจากแม่แมวสู่ลูกแมวในขณะตั้งท้องได้อีกด้วย ส่วนมากมักพบในแมวที่มีพฤติกรรมอาศัยอยู่นอกบ้าน โดยเฉพาะแมวเพศผู้จะมีอัตราเสี่ยงมากกว่า เนื่องจากมีพฤติกรรมชอบออกไปเที่ยวนอกบ้าน
เมื่อแมวได้รับเจ้าเชื้อไวรัสนี้เข้าไปประมาณ 2-3 สัปดาห์ ก็จะเริ่มแสดงอาการต่างๆ แตกต่างกันขึ้นอยู่กับอายุและระดับภูมิคุ้มกันของแมวแต่ละตัว อาการดังกล่าวเช่น มีไข้ ซึม เบื่ออาหาร อาเจียน กินน้ำมาก ปัสสาวะมาก เลือดจาง อาจพบเลือดปนในอุจจาระ หรือหากมีการติดเชื้อในร่างกายแบบเรื้อรัง ก็อาจเกิดภาวะดีซ่าน น้ำหนักลด ต่อมน้ำเหลืองโตทั่วร่างกาย เป็นต้น
การตรวจวินิจฉัยโรคนี้สามารถทำได้โดยเริ่มจากการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด เจาะเลือดเพื่อตรวจดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจการทำงานของตับและไต การอัลตร้าซาวน์ช่องท้อง การตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อโดยใช้ปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกัน หรือการตรวจด้วยชุดตรวจ FeLV test
ส่วนการรักษานั้นทำได้เพียงรักษาตามอาการ เช่นเดียวกับโรคเอดส์แมว โดยหวังผลเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น การให้ยาเพื่อลดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน การถ่ายเลือดกรณีที่มีภาวะเลือดจางรุนแรง การให้สารอาหารแก่แมวป่วย การให้ยาหรือสารที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน การให้เคมีบำบัดในกรณีที่พบเนื้องอกหรือมะเร็ง สำหรับการป้องกันสามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีนแก่แมวในระยะเวลาที่เหมาะสม หรือในกรณีที่เลี้ยงแมวไว้หลายตัว ก็ควรแยกแมวที่ป่วย รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ออกจากแมวอื่นๆ รวมทั้งควรทำความสะอาดพื้น ที่นอน และกระบะทรายของแมวป่วยอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่แมวตัวอื่นให้ได้มากที่สุด
โรคลิวคีเมียในแมวอาจส่งผลต่อสุขภาพร้ายแรงก็จริง แต่หากเรามีการป้องกันและดูแลอย่างถูกต้อง ก็สามรถช่วยลดความเสี่ยงที่น้องแมวจะติดโรคนี้ไปได้มากเลยทีเดียว
ขอบคุณแหล่งที่มา : thonglorpet.com
ติดตามข่าวสาร ได้ที่ : mydeedees.com
|