อุณหภูมิความขัดแย้ง “ประเทศมหาอำนาจจีน-สหรัฐอเมริกา” ยังร้อนแรงมาตั้งแต่แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ก้าวย่างเข้ามาเยือนไต้หวันสร้างความไม่พอใจให้จีนจนประกาศซ้อมรบด้วยกระสุนจริงรอบเกาะไต้หวันทั้งทางบก น้ำ อากาศ และยังซ้อมยิงขีปนาวุธข้ามกรุงไทเปด้วย
แต่สถานการณ์ยิ่งร้อนระอุขึ้นอีกเมื่อ “คณะผู้แทนสภาคองเกรสสหรัฐฯ” เดินทางมาเยือนไต้หวันหลังจาก “แนนซี เพโลซี กลับไปไม่ถึง 2 สัปดาห์” กลายเป็นความท้าทายอธิปไตยของจีน “จนขยายเวลาการซ้อมรบ” เพื่อป้องปรามสหรัฐฯและไต้หวันที่เล่นการเมืองบ่อนทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันนี้
ผศ.ดร.กฤษฎา พรหมเวค อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง มองว่า ความขัดแย้งระหว่างจีน-ไต้หวันดูเหมือนสงบนิ่ง แต่ลึกๆยังมีคลื่นใต้น้ำเคลื่อนไหวต่อเนื่องด้วย “คนไต้หวันบางส่วน” รู้เท่าทันการมาเยือนของสหรัฐฯครั้งนี้ เพื่อยั่วยุจีนให้บุกโจมตีไต้หวันก่อเกิดเป็นสงครามขึ้น
เพราะผิดหวังจากการสนับสนุน “ยูเครนทำสงครามกับรัสเซีย” ด้วยปัจจุบันยูเครนถูกโจมตีจนเป็นฝ่ายสูญเสียเลยปลีกตัวหาเวทีใหม่คือ “ส่งผู้แทนมาเยือนไต้หวันยั่วยุจีน” อย่าลืมว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งภายใต้นโยบายจีนเดียว ถ้า“ไต้หวัน” แข็งกร้าวแยกตัวออกจากจีนก็ถือเป็น “กบฏ” ที่อาจใช้กำลังทหารบุกมายึดก็ได้
เพื่อปราบปรามกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนอันเป็นสิทธิโดยชอบธรรมตามที่ “ทั่วโลก” ยอมรับนโยบายจีนเดียวมาตลอด แล้วกรณี “สหรัฐฯ” เข้ามาในไต้หวันเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีนที่อาจเป็นชนวนให้กองทัพจีนบุกยึดไต้หวันได้ ดังนั้น แม้ “ไต้หวันอยากแยกตัวเป็นเอกราช” แต่ก็ไม่อยากขัดแย้งจนเกิดสงครามการสู้รบกับจีน
ทว่าจุดเริ่มต้นคร่าวๆ “นโยบายจีนเดียว” เกิดขึ้นเมื่อหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 “ประเทศจีน” ได้เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนสู้รบชนะพรรคก๊กมินตั๋งที่ต้องหนีมาตั้งหลักยัง “เกาะไต้หวัน” ประกาศตนเป็น “รัฐบาลสาธารณรัฐจีน (จีนแดง)” แล้วตั้งประธานาธิบดีขึ้นมาในการบริหารนั้น
ต่อมาเมื่อ “จีนแผ่นดินใหญ่” มีความเข้มแข็งก็ตั้งระบอบใหม่เรียกว่า “สาธารณรัฐประชาชนจีน” แล้วประกาศเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องโดยไม่ยอมรับ “รัฐบาลจีนไต้หวัน” พร้อมออกนโยบายบังคับให้ยึดมั่นแนวคิดนี้ “จีนเดียว” ผนวกเป็นดินแดนมี “รัฐบาลเดียว” ไม่ว่าจะเป็นจีนไต้หวัน หรือจีนแผ่นดินใหญ่ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของจีน
mylinkinvitation.com
|