ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของปราสาทแห่งนี้ ก่อสร้างด้วยหินทรายและศิลาแลง วางผังตามแนวแกนทิศตะวันออก-ตะวันตก มีคติการสร้างเป็นการจำลองมณฑลพระศิวะ ซึ่งมีเขาไกรลาส อันเป็นที่ประทับของพระศิวะ เป็นศูนย์กลาง มีปราสาทประธาน ยกสูงบนฐานเป็นชั้น เปรียบเสมือนเขาไกรลาส และทางดำเนินที่มุ่งเข้าหาปราสาทประธานเปรียบเสมือนสะพานที่เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์ที่เป็นที่ประทับของเทพเจ้า
สิ่งก่อสร้างสำคัญประกอบด้วย ปราสาท ซุ้มประตู และกำแพง ก่อด้วยศิลาทราย สระน้ำขนาดใหญ่ หรือบาราย สร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยอุทิศถวายพระศิวะมหาเทพในศาสนาฮินดู มีอายุกว่า 900 ปี เป็นประจักษ์พยานแห่งความสำคัญของพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา และประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมเขมร มาสู่สยามประเทศ
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2478 กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานปราสาทสด๊กก๊อกธมครั้งแรก และกำหนดเขตพื้นที่โบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 15 กันยายน 2540 รวมพื้นที่ 641 ไร่ 2 งาน 82 ตารางวา ต่อมาปี 2538-2553 กรมศิลปากรได้จัดทำโครงการอนุรักษ์และพัฒนาปราสาทสด๊กก๊อกธม โดยดำเนินงานทางโบราณคดี และบูรณะปราสาทตามหลักอนุรักษ์ด้วยวิธีอนัสติโลซิส ซึ่งเป็นวิธีประกอบรูปโบราณ สถานขึ้นจากซากปรักหักพังให้กลับมามีสภาพที่รักษาความเป็นของแท้และดั้งเดิมให้ได้มากที่สุด จากนั้นได้จัดสร้างศูนย์บริการข้อมูล และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาทิ ร้านค้า ห้องน้ำ ระบบไฟฟ้า ประปา และภูมิทัศน์โดยรอบ
จนกระทั่ง พุทธศักราช 2560 กรมศิลปากรประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานประวัติ ศาสตร์ล่าสุด ในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยมุ่งหวังให้เป็นแหล่งทัศนศึกษา เรียนรู้โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และสถาปัตย กรรมอันวิจิตร ที่สรรสร้างจากภูมิปัญญาและศรัทธาในศาสนาของช่างและชนพื้นถิ่นแต่โบราณกาล
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 พฤษภา คม 2565 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม จากนั้นทอดพระเนตรนิทรรศการภายในศูนย์ บริการข้อมูลปราสาทสด๊กก๊อกธม ก่อนเสด็จฯไปทอดพระเนตรปราสาทสด๊กก๊อกธม และทรงชื่นชมความงดงามของแหล่งโบราณคดีที่สำคัญของประเทศไทย
usprocom.net