TRAFFIC เปิดผลสำรวจพบช่วงโควิดสถานการณ์ค้าสัตว์ป่าไม่ลดลง 2 ปีพบซื้อขายซาก-ชิ้นส่วนเสือผ่านตลาดออนไลน์กว่า 300 ชิ้น ขณะที่ 6 เดือนแรกปี 65 ไทยจับกุมคดีค้าเสือ 4 คดี ยึดลูกเสือโคร่งมีชีวิต 3 ตัว ชงใช้เครือข่าย TWIX เชื่อมข้อมูลการลอบค้าสัตว์ป่าระดับภูมิภาค
น.ส.เมทินีย์ ภัสสราอุดมศักดิ์ นักวิจัยและฝ่ายข้อมูล TRAFFIC เปิดเผยภาพรวมสถานการณ์การค้าสัตว์ป่า ผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ทั้งในช่องทางตลอดและออนไลน์ ว่า สถิติการตรวจยึดและจับกุมเสือในรอบ 18 ปีที่ผ่านมา (2543-2561) พบว่า ในประเทศไทยมีเสือถูกยึด 351 ตัว ในจำนวนนี้ร้อยละ 58 เป็นเสือที่อยู่ในกรงเลี้ยง หรือสถานเพาะเลี้ยงต่าง ๆ สิ่งที่น่ากังวล คือสถานที่ดังกล่าวอาจมีความเกี่ยวข้องกับการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย
6 เดือนแรกปี 65 ยึดลูกเสือโคร่ง 3 ตัว ซากเสือ 3 ตัว
ขณะที่ 6 เดือนแรกของปี 2565 มีการตรวจยึดและจับกุมคดีเกี่ยวกับเสือ 4 คดี รวม 6 ตัว ในจำนวนนี้เป็นลูกเสือที่มีชีวิต 3 ตัว คือ น้องขวัญ เสือโคร่งสายพันธุ์ไซบีเรีย, ต้นกล้าและต้นข้าว เสือโคร่งสายพันธุ์เบงกอล และหนังเสืออีก 3 ตัว
เจ้าหน้าที่ TRAFFIC ได้สำรวจตลาดบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ 5 ประเทศ ได้แก่ ลาว เมียนมา กัมพูชา ไทย เวียดนาม พบว่า ยังมีการซื้อขายชิ้นส่วนและซากผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า โดยอันดับ 1 เป็นผลิตภัณฑ์จากงาช้าง อีกทั้งยังพบการค้าผลิตภัณฑ์จากเสือ เช่น กระโหลกเสือ กระดูกเสือ เขี้ยว-เล็บเสือ รวมทั้งชิ้นส่วนของนกชนหิน นอแรด เกล็ดลิ่น หนังลิ่น เล็บหมี
ในส่วนของตลาดออนไลน์ ช่วงสถานการณ์ COVID-19 ปี 2563-2564 พบว่า การซื้อค้าขายซากและชิ้นส่วนสัตว์ป่าไม่ได้ลดลง โดยพบผลิตภัณฑ์จากงาช้างถูกซื้อขายมากที่สุด รองลงมาเป็นซากและชิ้นส่วนจากเสือ รวม 300 ชิ้น
royalstoneind.com
|