กรมควบคุมโรค ชี้ผู้ป่วยฝีดาษลิงในไทย 4 คนส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงหายเองระยะ 2-4 สัปดาห์ ความเสี่ยงติดจากการสัมผัสรอยโรคผิวหนัง เช่น ผื่น ตุ่มหนอง สารคัดหลั่ง "หมอยง" ไขคำตอบเหตุใดตุ่มจึงต้องขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ชี้โรคกระจายในผู้หญิงอนาคตอาจควบคุมยาก
วันนี้ (7 ส.ค.2565) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สถานการณ์โรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิงในไทยพบผู้ป่วย 4 คน เป็นชาวต่างชาติ 2 คน และสัญชาติไทย 2 ราย
จากการเฝ้าระวังติดตามอาการผู้ป่วย พบอาการป่วยไม่รุนแรง แม้ยังไม่มียารักษาเฉพาะ โรคนี้สามารถหายได้เองในระยะ 2-4 สัปดาห์ โดยให้ยารักษาตามอาการ
“โรคฝีดาษลิงไม่ได้ติดต่อกันได้ง่ายๆ ความเสี่ยงที่จะติดโรค ส่วนใหญ่มาจากการสัมผัสรอยโรคผิวหนัง เช่น ผื่น ตุ่มหนอง สารคัดหลั่ง หรือสัมผัสใกล้ชิดมากๆ กับผู้ป่วย หรือบาดแผลของผู้ป่วย รวมทั้งการติดต่อผ่านทางละอองทางเดินหายใจจากการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น หน้าแนบหน้า ”
ชี้วัคซีนฝีดาษลิงให้ 2 กลุ่มเสี่ยงรับเชื้อ
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า สำหรับการป้องกันควบคุมโรคองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ใช้วัคซีนป้องกันโรคในกลุ่มที่จำเป็น เช่น บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า
สิ่งที่สำคัญอันดับแรก คือ การป้องกันโรคโดยไม่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย งดเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า หรือไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น และล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันติดเชื้อจะเป็นการดีที่สุด
โดยการพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ ๆ ต้องติดตามข้อมูลผลข้างเคียงและประสิทธิภาพของวัคซีนเมื่อใช้จริงในประชากร
“ไทยได้สั่งจองวัคซีนป้องกันฝีดาษลิงแล้ว คาดว่าจะนำเข้ามาปลายเดือนหลัง ส.ค.นี้ ซึ่งคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ได้ประชุมหารือ กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะรับวัคซีนเบื้องต้น”
แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มก่อนการสัมผัสเชื้อ ได้แก่ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ เช่น ดูแลผู้ป่วยใกล้ชิด หรือเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ และ 2.กลุ่ม Post-exposure คือฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงหลังสัมผัสโรคไม่เกิน 14 วัน ซึ่งหากฉีดเร็วจะมีโอกาสป้องกันการติดเชื้อเพิ่มขึ้น
|